Search Mark
หน้าแรก / ข่าวสารการลงทุน

ดอลลาร์ทรงตัวเทียบเยน หลังสหรัฐเผยข้อมูลศก.อ่อนแอ


สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอย่างจำกัดบริเวณระดับบนของกรอบการซื้อขายที่ 144 เยน หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งรวมถึงดัชนีภาคการผลิตที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งทำให้ตลาดมีความกังวลลดลงว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ณ เที่ยงวันนี้ตามเวลาโตเกียว ดอลลาร์เคลื่อนไหวที่ 144.86-144.87 เยน เทียบกับ 144.53-144.63 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 145.02-145.04 เยนที่ตลาดโตเกียวเมื่อเวลา 17.00 น. ของเมื่อวานนี้

ยูโรเคลื่อนไหวที่ 0.9826-0.9830 ดอลลาร์ และ 142.34-142.41 เยน เทียบกับ 0.9818-0.9828 ดอลลาร์ และ 142.06-142.16 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 0.9811-0.9812 ดอลลาร์ และ 142.28-142.32 เยนที่ตลาดโตเกียวเมื่อช่วงเย็นเมื่อวานนี้

อ้างอิง อินโฟเควสท์

เงินบาทเปิด 37.89 แข็งค่าตามภูมิภาค หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯกดดอลลาร์อ่อนค่า

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 37.89 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจาก ปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 38.09 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่า เนื่องจากเมื่อคืนนี้ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ (ISM) ออกมาแย่กว่าตลาดคาด โดยภาพรวม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ย่อลง ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ ด้านสกุลเงินภูมิภาคส่วนใหญ่แข็งค่า ประกอบกับ ข่าวที่รัฐบาลอังกฤษยกเลิกการปรับลดภาษีเงินได้ 45% ในนโยบายการคลังฉบับใหม่ ทำให้ตลาดคลายกังวลเกี่ยวกับขาดดุลการคลังของ อังกฤษ

อ้างอิง อินโฟเควสท์

เกาหลีใต้เชื่อมั่นบัญชีเดินสะพัดเกินดุลปีนี้ แม้ขาดดุลการค้า 6 เดือนติด

ประธานาธิบดียุน ซอกยอลของเกาหลีใต้เปิดเผยในวันนี้ (4 ต.ค.) ว่า บัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ตลอดทั้งปีนี้จะเกินดุล แม้เกาหลีใต้ขาดดุลการค้าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็ตาม พร้อมระบุว่า การขาดดุลที่ผ่านมามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบ และราคาเซมิคอนดักเตอร์

ปธน.ยุนเปิดเผยกับบรรดานักข่าวว่า “ขณะที่ราคาส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ลดลงและราคานำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกาหลีใต้ขาดดุลการค้า แต่ก็คาดว่าบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลสำหรับทั้งปีนี้” พร้อมให้คำมั่นว่า รัฐบาลจะจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการยังคงดำเนินมาตรการควบคุมฉุกเฉินต่อไป

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกาหลีใต้มียอดขาดดุลการค้าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากราคาพลังงานและวัตถุดิบทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้น

อ้างอิง อินโฟเควสท์

แบงก์ชาติออสเตรเลียขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แตะ 2.60% สูงสุดในรอบ 9 ปี

ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% แตะที่ 2.60% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปีในวันนี้ (4 ต.ค.) โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แม้ RBA เปิดกว้างต่อการคุมเข้มนโยบายการเงินเพิ่มเติมในอนาคต

ทั้งนี้ RBA ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาสั้น ดังนั้น RBA จึงได้ตัดสินใจที่จะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า RBA ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 6 แล้วนับตั้งแต่เดือนพ.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยปรับขึ้นรวมทั้งสิ้น 2.50%

อ้างอิง อินโฟเควสท์

เงินเฟ้อโตเกียวเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องแตะ 2.8% เพิ่มแรงกดดันต่อแบงก์ชาติญี่ปุ่น

อัตราเงินเฟ้อในกรุงโตเกียวเร่งตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนก.ย. โดยเป็นการปรับตัวขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2535 เมื่อไม่รวมผลกระทบของการปรับขึ้นภาษี ซึ่งเพิ่มความท้าทายต่อธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการชี้แจงถึงเหตุผลที่ยังคงเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นแบบต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (4 ต.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาในหมวดอาหารสด ในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นแตะ 2.8% ในเดือนก.ย. หลังปรับตัวขึ้นแตะ 2.6% ในเดือนส.ค. โดยสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์

อ้างอิง อินโฟเควสท์

แชร์ไปที่

ข่าวสารการลงทุน

แบงก์ชาติไต้หวันเล็งพิจารณาเงินเฟ้อ-จีดีพีก่อนปรับดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า

ติดตามสรุปข่าวการเงินและการลงทุนประจำวันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2566 ได้ที่นี่

2023-5-24 | ข่าวสารการลงทุน

เงินเฟ้อฮ่องกงพุ่ง 2.1% ในเดือนเม.ย. เหตุราคาสินค้าสูงต่อเนื่อง

ติดตามสรุปข่าวการเงินและการลงทุนประจำวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566 ได้ที่นี่

2023-5-23 | ข่าวสารการลงทุน

กำไรในจีนของวาณิชธนกิจทั่วโลกหดตัวปี 2565 เซ่นพิษโควิด-ปัญหาการเมือง

ติดตามสรุปข่าวการเงินและการลงทุนประจำวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 ได้ที่นี่

2023-5-22 | ข่าวสารการลงทุน