จับตาทิศทางตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ คาดอาจปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐที่ปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยล่าสุดนางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโกออกมาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมสองครั้งข้างหน้า
การแสดงความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับที่นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟดซึ่งสนับสนุนให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมทุกเดือนจนกว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง
— นักลงทุนจับตาการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสในวันนี้ โดยที่ประชุมจะกำหนดนโยบายการผลิตสำหรับเดือนก.ค. หลังจากมีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 432,000 บาร์เรล/วันสำหรับเดือนมิ.ย. แม้ว่าสหรัฐและหลายประเทศที่นำเข้าน้ำมันต่างเรียกร้องให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตให้มากขึ้นกว่าในระดับปัจจุบัน เพื่อสกัดราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ.
— หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า สมาชิกบางรายของกลุ่มโอเปกพลัสกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการตัดรัสเซียออกจากการทำข้อตกลงผลิตน้ำมันของโอเปกพลัส ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตน้ำมันของรัสเซีย
นักวิเคราะห์จาก VI Investment Corp คาดการณ์ว่า หากโอเปกพลัสมีการยืนยันถึงเรื่องดังกล่าว ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล
— ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจใน 12 เขตของสหรัฐหรือ Beige Book ในวันพุธ (1 มิ.ย.) โดยระบุว่า เศรษฐกิจในเขตส่วนใหญ่ของสหรัฐมีการขยายตัวเล็กน้อยจนถึงปานกลางในช่วงเดือนเม.ย.ถึงปลายเดือนพ.ค. และมีสัญญาณบางอย่างบ่งชี้ว่านโยบายของเฟดอาจส่งผลให้อุปสงค์ชะลอตัวลง
รายงานยังระบุด้วยว่า ภาคธุรกิจมีมุมมองเชิงบวกน้อยลงเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่า เศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า แรงกดดันของเงินเฟ้อหรือภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานจะบรรเทาลงในเร็ว ๆ นี้
— รัฐบาลอินเดียเริ่มใช้มาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำตาลภายในประเทศ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ต.ค. บริษัทส่งออกของอินเดียจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลก่อนที่จะทำการส่งออกน้ำตาลไปยังต่างประเทศ
— เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 57.0 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 57.5 จากระดับ 59.2 ในเดือนเม.ย.
ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2563 แม้ว่าการจ้างงานปรับตัวขึ้น
— ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามมติในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 4 พ.ค.
ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว เฟดมีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี
— ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เปิดเผยในวันนี้ ออสเตรเลียมีกำหนดเปิดเผยยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนเม.ย. และยอดค้าปลีกเดือนเม.ย., สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)
อ้างอิง อินโฟเควสท์